ประวัติโนราประสงค์ กำพลศิลป์
โนราประสงค์ กำพลศิลป์ หรือชื่อจริงว่า นายสมประสงค์ บุญถนอม เกิดเดือนมีนาคม ๒๕๒๗ เป็นชาวจังหวัดสงขลาโดยกำเนิด
จบชั้นประถมศึกษาโรงเรียนอนุบาลสงขลา
มัธยมศึกษาโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา
จบปริญญาตรี สาขาดุริยางศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
( โนราธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชา)
เริ่มหัดโนราครั้งแรกกับอาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ สถาบันราชภัฎสงขลาใน(ขณะนั้น) โดยเริ่มจากหัดเครื่องดนตรีพื้นบ้านก่อนแล้วจึงเริ่มสนใจศึกษาท่ารำโดยอาจารย์ธรรมนิตย์ได้หัดกระบวนการรำเพลงโค และแม่บท ครูสอน สอนรำ และประถม และได้รับการชี้แนะท่ารำและบทร้องแม่บทจากผู้ช่วยศาสตราจารย์สาโรช นาคะวิโรจน์ และอาจารย์จิณ ฉิมพงศ์
(โนราจิณ ฉิมพงษ์ อาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชา)
ได้ไปศึกษาท่ารำและบทกลอนเพิ่มเติมจากโนราจำเริญ ศ.พนมศิลป์ ตำบลเกาะยอ สงขลา โดยเฉพาะบทกลอนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับโนราพิธีกรรม เช่นโนราโรงครู ร้องบน แก้บน เหยียบเสน เป็นต้น และได้รับการถ่ายทอดท่ารำเฉพาะอย่าง เช่นรำเฆี่ยนพราย เหยียบลูกมะนาว รำแทงเข้
(โนราสาโรช นาคะวิโรจน์ อาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชา)
จากนั้นได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์โนราประเสริฐโสภณศิลป์ จึงได้รับการถ่ายทอดกระบวนการทางโนราเกือบทั้งหมดในสายของโนราเทพสองกุกผู้เป็นบิดาของโนราประเสริฐและโนราโสภณได้ตัดจุกผูกผ้าโนราใหญ่ โดยโนราจำเริญ ศ.พนมศิลป์ และประเสริฐเป็นโนราใหญ่เจ้าพิธี โดยมีโนราสุชาติหยาดฟ้า เป็นคู่สวด หรือเจ้าพิธีรอง
(โนราจำเริญ ศ พนมศิลป์ อาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชา)
เมื่อปี ๒๕๕๓ ได้ร่วมกับโนรากำพลบ้านสวนจันทร์ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร สงขลา ตั้งคณะภายใต้ชื่อ "ประสงค์กำพลศิลป์" และได้ออกแสดงตั้งแต่นั้นมาตราบจนปัจจุบันและต้นปี๒๕๕๖ ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ขอเรียนวิชาจากโนรากัลยานาฏราช จังหวัดระนองเพื่อศึกษาท่ารำและบทกำพรัดโบราณ
เกียรติประวัติที่ภาคภูมิใจ
(โนราประสงค์กำพลศิลป์)
๑.ได้รับเชิญให้สอนโนราและเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตามสถาบันการศึกษาต่างๆทั้งในระดับอุดมศึกษา มัธยมศึกษา และประถมศึกษา เช่นชมรมจุฬาทักษิณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมสืบศิลป์ถิ่นใต้ มหาวิทยาลัยศิลปากรวังท่าพระ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โรงเรียนวัดบ้านพร้าว อำเภอสิงหนคร สงขลา โรงเรียนวัดตันติการาม อำเภอระแงะ นราธิวาส โรงเรียนวัดหัวป่า อำเภอระโนด โรงเรียนวัดแหลมพ้อ สงขลา เป็นต้น
(โนราประสงค์กำพลศิลป์)
๒. ส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศโนราทั้งในระดับภาค ระดับเขต ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ เคยได้รับรางวัลชนะเลิศภาคใต้ ระดับโนราเยาวชนถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
แนวคิดที่สำคัญคือการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โนรา ที่จะต้องรักษาและสืบทอดต่อๆป ภายใต้กรอบที่ว่า "โนราภาคใต้เราจะต้องไม่แบ่งแยกสาย ไม่แตกแยกบนความแตกต่าง"
ปัจจุบันทำงานสังกัดเทศบาลนครสงขลา ตำแหน่งพนักงานครูเทศบาล สอนประจำการที่โรงเรียนเทศบาล๒(อ่อนอุทิศ) สำนักการศึกษาเทศบาลนครสงขลา และยังถ่ายทอดให้แก่เยาวชนรุ่นต่อๆไปอย่างไม่ลดละ ควบคู่กับการแสดงที่ยังคงแสดงสู่สายตาสาธารณชนต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
(โนราคณะประสงค์กำพลศิลป์)
ขอมูลเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๖โดยโนราประสงค์ กำพลศิลป์ สงขลา